วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

การผังเมือง


การผังเมือง
City Planning



บทคัดย่อ
การจัดทำบทความ การผังเมืองนี้ได้รวบรวมเนื้อหาที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายผังเมือง ขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวม การบังคับใช้กฎหมายผังเมือง โทษ การใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย และกรณีศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมาย
Abstract
Everyone especially who want to build a house or a factory or use the land must know about cityplanning. As a result, this paper collects the law and information about city planning whichconsist of town planning law, the procedure of principle city plan, law enforcement, legal punishment, land usage and case study of the effect of execution.

Keyword: การผังเมือง นักผังเมือง ผังเมืองเฉพาะ ผังเมืองรวม

1.บทนำ
การผังเมือง (City/Town Planning) เป็นศาสตร์หนึ่ง เกี่ยวข้องกับสหสาขาวิชา เช่น การวางแผน กฎหมาย สถาปัตยกรรม สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมจราจร เพื่อเป็นการกำหนดนโยบาย กฎหมาย เกณฑ์ ระเบียบ การจัดวางผังและแผนการใช้พื้นที่ของเมือง ชุมชน โครงข่ายการจราจร
ผู้จัดทำผังเมือง เรียกว่า นักผังเมือง การวางผังเมืองมีหลายระดับ ตั้งแต่ ผังชุมชน ผังเมืองเฉพาะ ผังเมืองรวม ผังภาค จนถึงผังประเทศ โดยมีความละเอียดของการวางแผนที่ต่างกัน จากการออกแบบกายภาพ การใช้ที่ดิน(กำหนดโดยการใช้สี เช่น สีแดง หมายถึงย่านพาณิชยกรรม สีเหลือง หมายถึงที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย เป็นต้น) ความหนาแน่น โครงข่าย/ระบบจราจรและขนส่ง หรือพื้นที่สีเขียว/สวนสาธารณะ มักมีประกาศกฎเกณฑ์ประกอบแผนในรูปกฎหมายประกอบอยู่ด้วย องค์กรหลักในการจัดทำผังเมืองคือ กรมโยธาธิการและผังเมืองส่วนกรุงเทพมหานคร มีหน่วยงานที่ดูแลจัดทำผังเมืองของตนเอง คือ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร2. การผังเมือง

2.1 กฎหมายแม่บทว่าด้วยการผังเมือง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2525
พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535


“การผังเมือง” หมายความว่า การวาง จัดทำ และดำเนินการ ให้เป็นไปตามผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ในบริเวณเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท เพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองหรือส่วนของเมืองขึ้นใหม่ หรือทดแทนเมืองหรือส่วนของเมืองที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้มี หรือทำให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม เพื่อส่งเสริมการเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม…..

2.2 ผังเมืองรวม

2.2.1.องค์ประกอบของกฎกระทรวงผังเมืองรวม
2.2.1.1 วัตถุประสงค์ในการวาง และจัดทำผังเมืองรวม
2.2.1.2 แผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวม
2.2.1.3 แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท
2.2.1.4 แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง
2.2.1.5 รายการประกอบแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
2.2.1.6 นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม
2.2.2. การบังคับใช้
ประกาศเป็นกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.2.3. อายุ
ใช้บังคับได้ไม่เกิน 5 ปี
2.2.4. การขยายระยะเวลาใช้บังคับ
การขยายระยะเวลาใช้บังคับกฎกระทรวงสามารถทำได้ 2 กรณี
1. ขยายอายุ 5 ปี ในกรณีสภาพการและสิ่งแวดล้อมในการบังคับผังเมืองรวม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2. ขยายอายุได้ 2 ครั้งๆละไม่เกิน 1 ปี ในกรณีดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงไม่แล้ว
2.2.5 ผลของการประกาศใช้บังคับ
เมื่อมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ประโยชน์ ที่ดินผิดไปจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมหรือปฏิบัติการใดๆ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองรวมนั้น
2.2.6 โทษ
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.2.7 กฎหมายไม่บังคับย้อนหลัง
โดยหลักการตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 27 ;วรรคสองมิให้กฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมมีผลผลบังคับแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงใช้บังคับและจะใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นต่อไปซึ่งหมายความว่ากฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง
2.2.8 การปลูกสร้างอาคาร หรือ ประกอบกิจการ หรือใช้ประโยชน์ที่ดิน
2.2.8.1การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน
สถานที่ตรวจสอบ กรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, สำนักกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด, สำนักงานเทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล
2.2.8.2 การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และขออนุญาต ประกอบกิจการ
เมื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วไม่ขัดกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมให้ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายเฉพาะในเรื่องนั้นๆ

2.3 ผังเมืองเฉพาะ
“ผังเมืองเฉพาะ” หมายความว่า แผนผังและโครงการดำเนินการเพื่อพัฒนาหรือดำรงรักษาบริเวณเฉาะแห่ง หรือกิจการที่เกี่ยวข้อง ในเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทเพื่อประโยชน์แก่การผังเมือง
เมื่อได้มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ณ ท้องที่ใดแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นของท้องที่นั้นเห็นสมควรจะจัดให้มีการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะขึ้น หรือจะขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทำผังเมืองเฉพาะก็ได้ ผังเมืองเฉพาะจะต้องสอดคล้องกับผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะใช้บังคับโดยออกเป็นพระราชบัญญัติ

2.4 กรณีศึกษา
เรื่อง ผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ผู้ศึกษา: นายอภิสิทธิ์ งามอัจฉริยะกุล
พื้นที่ศึกษาคือ ชานเมืองกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ซึ่งในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ทั้งเป็นเส้นทางผันน้ำจากภาคเหนือสู่อ่าวไทย จึงถูกกำหนดโดยผังเมืองรวมให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมและพื้นที่รับน้ำจากทางภาคเหนือตลอดมา พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ทำโครงการแก้มลิง เมืองเฉลิมพระเกียรติ และต่อมามีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ไม่มีความจำเป็นในการใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำจากภาคเหนือเพื่อผันสู่อ่าวไทยต่อไป
ระหว่างปี พ.ศ. 2517 -2543 พบว่าจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ศึกษาจากพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่พักอาศัยและพาณิชกรรมอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ปี พ.ศ.2549 มีการเปิดใช่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การขยายถนนเดิมและก่อสร้างถนนสายหลักสายใหม่ๆจึงมีการขยายพื้นที่พักอาศัยและทางด้านพาณิชยกรรมจำนวนมาก
โดยสรุปในช่วงระยะเวลาย้อนหลังไป 10 ปี ในพื้นที่ศึกษาจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่พักอาศัยและพาณิชย-กรรม แต่ผังเมืองรวม กทม.ที่บังคับใช้ในปัจจุบันตามกฎกระทรวง พ.ศ.2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2549 -2554 เปรียบเทียบกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่บังคับใช้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 414 (พ.ศ.2542) ซึ่งบังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ.2542-2547 และขยายระยะเวลาครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง จึงใช้บังคับถึงปี พ.ศ. 2549 ปรากฏว่าผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2549) มิได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ที่ดินให้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่แท้จริง ตามสภาพเศรษฐกิจสังคมสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคงให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นที่ศึกษายังคงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน

3.สรุป
ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการผังเมือง บัญญัติในมาตรา 26 ว่า การบังคับใช้ผังเมืองรวมให้กระทำโดยกฎกระทรวง และให้ใช้บังคับได้ไม่เกิน 5 ปี หากมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้ผังเมืองรวมที่บังคับใช้ในแต่ละช่วงเวลาสอดคล้องกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ก่อนการบังคับใช้ผังเมืองรวมโดยกฎกระทรวงแต่ละฉบับ จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในผังเมืองรวมที่จะบังคับใช้ ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองด้านต่างๆ รวมทั้งต้องรับพิจารณาคำร้องขอของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างเปิดกว้างและสมเหตุผล จึงจะทำให้ผังเมืองรวมที่บังคับใช้สามารถบรรลุเป้าหมายอันสำคัญอย่างแท้จริง

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซต์ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซด์กูเกิลที่ให้ผู้เขียนได้ใช้สำหรับเป็นแหล่งเครื่องมือหลักในการสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนบทความฉบับนี้ รวมถึงนักวิชาการและนักปฏิบัติทางการกฎหมายทั้งหลายที่มิได้เอ่ยนามในบทความนี้ที่ได้เสียสละเวลาในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไว้ในเว็บไซด์ต่าง ๆ
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย ที่ให้โอกาสผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการผังเมือง จึงทำให้เกิดบทความ ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง
[1] ปีที่พิมพ์ 2552, ผังเมืองน่ารู้.จำนวน 30,000 แผ่น.
พิมพ์ครั้งที่ 3 .จัดพิมพ์โดย: กองเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง สถานที่พิมพ์ : บริษัท รำไทยเพรส จำกัด
[2] นายอภิสิทธิ์ งามอัจฉริยะกุล, ปี 2550.เรื่องผลกระทบ
ของการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมฝั่งตะวันออก ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549